General MIDI ของ มิดิ

ในปี พ.ศ. 2526 เมื่อมาตรฐานการเชื่อมต่อ MIDI ออกมาใหม่ ๆ ได้สร้างความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์สร้างเสียงดนตรีอุปกรณ์ควบคุม และอุปกรณ์บันทึกที่หลากหลายเข้าด้วยกัน, ทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นระหว่างผู้ผลิตเครื่องดนตรีหลาย ๆ เจ้าเพื่อใช้ประโยชน์จากมาตรฐานนี้, แต่เนื่องจากมาตรฐาน MIDI เป็นมาตรฐานการส่งคำสั่งควบคุมทางไฟฟ้าเท่านั้นไม่ได้มีการกำหนดไว้ตายตัวว่าการใช้งานคำสั่งย่อยต่าง ๆ จะต้องตีความอย่างไร หรือหมายเลขเครื่องดนตรีที่อยู่ในคำสั่งนั้นหมายถึงเสียงเครื่องดนตรีใด, ทำให้ผู้ผลิตแต่ละบริษัทใช้รูปแบบการตั้งค่าคำสั่งที่แตกต่างกันมากหากนำมาใช้ร่วมกันจะทำให้เสียงผิดเพี้ยน, ทำให้เมื่อนักดนตรีเลือกใช้เครื่องดนตรีหรืออุปกรณ์ควบคุมยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งแล้ว จะไม่สามารถนำเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ควบคุมยี่ห้ออื่น ๆมาใช้งานร่วมกันผ่านระบบ MIDI ได้, จนสร้างความอึดอัดใจให้กับนักดนตรีทั่ว ๆ ไป เป็นอย่างมาก

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2534 ได้มีการประกาศมาตรฐานเกี่ยวกับการใช้ชุดคำสั่ง MIDI ออกมาเป็นครั้งแรก โดยมีชื่อเรียกว่าThe General MIDI System Level 1 หรือเรียกกันทั่วไปว่า General MIDI (GM)อันเกิดจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตในญี่ปุ่นที่เรียกตัวเองว่า Japanese MIDI Standards Committee(JMSC) กับกลุ่มผู้ผลิตทางอเมริกาที่ชื่อว่า American MIDI Manufacturers Association (MMA)

มาตรฐาน GM ประกอบด้วยสาระสำคัญเรื่องการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการรองรับคำสั่ง MIDI(เช่น ต้องรองรับการปรับความดังตัวโน้ต และต้องเล่นได้อย่างน้อย 24 โน้ตพร้อมกัน)รวมทั้งกำหนดเสียงเครื่องดนตรีที่ใช้ใน MIDI ทั้งหมด 128 ชนิดซึ่งจะรวมเสียงของเครื่องดนตรีจริง ๆ และเสียงเอฟเฟคต์ต่าง ๆ เช่นเสียงปรบมือ เสียงฝนตก ฯลฯ เอาไว้ด้วยโดยหมายเลขของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดจะเรียกว่า Patch และมีการแบ่ง Patch ออกเป็นกลุ่ม ๆ ดังต่อไปนี้:

  1. Piano
  2. Chromatic Percussion
  3. Organ
  4. Guitar
  5. Bass
  6. Strings
  7. Ensemble
  8. Brass
  9. Rreed
  10. Pipe
  11. Synth Lead
  12. Synth Pad
  13. Synth Effects
  14. Ethnic
  15. Percussive
  16. Sound Effects

ในแต่ละกลุ่มยังแบ่งย่อย ๆ ไปอีกกลุ่มละ 8 ชนิด เช่น ในกลุ่มของเปียโน ก็จะมีเสียงของเปียโนชนิดต่าง ๆ อีก 8 ชนิดหรือในกลุ่มของ Brass ก็ประกอบด้วย ทรัมเป็ต, ทรอมโบน และเครื่องเป่าอื่น ๆ อีกรวม 8 ชนิด เป็นต้น

เมื่อมาตรฐาน GM ออกมา ก็ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย จนในที่สุดเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ควบคุมต่าง ๆจากบริษัทผู้ผลิตทั่วโลกก็สามารถนำมาผสมผสานและเล่นร่วมกันได้ในระบบ MIDI โดยอาศัยมาตรฐานนี้,และนอกจากการใช้งานกับเครื่องดนตรีแล้ว มาตรฐานนี้ก็ถูกนำมาใช้ในวงการคอมพิวเตอร์ด้วยเช่นการ์ดเสียงคอมพิวเตอร์ที่ระบุว่ารองรับมาตรฐาน GM ก็จะสามารถเล่นเพลงที่บันทึกมาจากเครื่องดนตรีหรือแต่งเพลงแล้วนำไปเล่นกับเครื่องดนตรีในมาตรฐาน GM ได้ โดยไม่มีปัญหาเรื่องเสียงของเครื่องดนตรีไม่ตรงกัน